เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุญนาค) ก่อสร้างป้อม ๖ ป้อมเสร็จลงแล้ว (ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมกายสิทธ์ ป้อมนาคราช และป้อมผีเสื้อสมุทร) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริว่า การที่พระองค์ได้สละพระราชทรัพย์ครั้งนี้ก็เพื่อสวัสดิภาพของชาติและพระศาสนา จึงควรจักได้มีอนุสาวรีย์ไว้ให้ปรากฎพระเกียรติยศสืบไป ทรงเห็นเกาะหาดทรายอยู่ท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร (ป้อมผีเสื้อสมุทรเป็นเกาะกลางน้ำ) เหมาะแก่การที่จะประดิษฐานพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้อำนวยการสร้าง รับสั่งให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาศักดิพลเสพกับพระยาราชสงคราม จัดเขียนแผนผังรูปพระเจดีย์ถวาย เมื่อทรงแก้ไขจนพอพระราชหฤทัยแล้ว จึงทรงเฉลิมพระนามว่า พระสมุทรเจดีย์ทั้งนี้คงจะมีพระราชประสงค์ให้เป็นคู่พระบารมีและอยู่คู่กับเมืองสมุทรปราการ
ในจำนวนป้อมทั้ง ๖ ป้อมดังกล่าวมีป้อมนาคราชที่ยังเหลืออยู่บ้าง ส่วนป้อมผีเสื้อสมุทรยังเหลือสภาพสมบูรณ์ที่สุดป้อมเดียว เหตุนี้ด้วยเป็นเพราะป้อมผีเสื้อสมุทรเป็นเกาะอยู่กลางน้ำยากลำบากต่อการรุกล้ำทำลาย
ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อปืนใหญ่ที่ทันสมัยคือ ปืนใหญ่อาร์มสตองนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อทั้งสิ้น ๑๐ กระบอก ติดตั้งไว้ที่ป้อมพระจุลฯ จำนว ๗ กระบอก ส่วนอีก ๓ กระบอกนำมาติดตั้งไว้ที่ป้อมผีเสื่อสมุทรนี้ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จได้ ๒ เดือนเศษก็เกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ขึ้น
ป้อมผีเสื้อสมุทร มองจากแม่น้ำเจ้าพระยา
บริเวณบนเชิงเทินป้อมผีเสื้อสมุทร
อาคารที่พัก (ทหาร)
ป้อมผีเสื้อตั้งอยู่ตรงข้ามกับองค์พระสมุทรเจดีย์ ปัจจุบันยังใช้เป็นประโยชน์ในกิจการของกองทัพเรือเคยใช้เป็นคลังเก็บวัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง ปัจจุบันเป็นที่ทำการของกองเรือเล็ก กำแพงป้อมที่ถูกน้ำทะเลเซาะพัง ได้บูรณะซ่อมแซมจนมีสภาพดีโดยกรมศิลปากรร่วมกับกองทัพเรือ บริเวณรอบๆ ป้อมผีเสื้อสมุทรเป็นที่อยู่ของฝูงค้างคาวแม่ไก่จำนวนนับหมื่นตัว
กลับ